กลับไปหน้าหลัก

 

ผู้บริหารกับยุทธศาสตร์การบริหารงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยและยุทธศาสตร์การบริหารงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในมุมมองทัศนะของคุณสมพงษ์ ผู้พลิกสถานการณ์โรงเรียนจากร่อแร่มาเป็นรุ่งโรจน์ บทความจากงานบรรยาย ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะรอยอล ริเวอร์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.

19 กรกฎาคม 2561  | mmk
ภาพจาก Designed by Freepik

ปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยเป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ มีการตั้งคณะทำงานในการพยายามปฏิรูปการศึกษาแต่ผลที่ได้กลับยังไม่สามารถทำให้คุณภาพการศึกษาของประเทศดีขึ้นได้ บทความนี้เขียนขึ้นโดยเป็นมุมมองทัศนะและแนวความคิดที่ได้จากการบริหารและวางแนวนโยบายที่ช่วยพลิกสถานการณ์จากโรงเรียนที่รอวันปิดกิจการมาเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนผู้ปกครองที่ให้ความสนใจเข้าเรียนมากกว่าที่นั่งที่สามารถรับได้ ผมมักจะบอกกับคนต่างรุ่นว่าเป็นคนที่ทันยุค 2 ระบบการศึกษา เพราะผมเป็นนักเรียนในหลักสูตรก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2521 ที่มีการนำเนื้อหาส่วนใหญ่ของวิชาเรขาคณิต, เลขคณิต, ตรีโกณมิติ และพีชคณิตออกและนำเอาเนื้อหาของระดับชั้นอุดมศึกษาบางส่วนลงมาสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา แม้นจนทุกวันนี้ผมเองก็ยังไม่สามารถหาเหตุผลที่มาอธิบายการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในครั้งนั้น แต่ในมุมมองของผมแล้วการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นคือต้นเหตุของปัญหาคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน หลายท่านที่ไม่ได้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวอาจจะสงสัยว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผมมีมุมมองเช่นนั้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้

ประการที่หนึ่งการเรียนอย่างเข้าใจต้องเกิดจากกระบวนการคิดด้วยตนเองซึ่งต้องอาศัยเวลา และไม่ควรมีกรอบเวลามาจำกัดเพราะผู้เรียนแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นหลักสูตรปัจจุบันที่มีเนื้อหาสาระจำนวนมากจึงไม่เอื้ออำนวยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิด ต่างกับหลักสูตรในสมัยที่ผมเรียนที่มีเนื้อหาน้อยเรื่อง นักเรียนมีเวลาเรียนทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องมากกว่า ในความจริงแล้วพื้นฐานของวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในช่วงทศวรรษแทบจะไม่แตกต่างกัน การจัดเวลาให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงเป็นประเด็นที่ควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง

ประการที่สอง ผมมองว่าวิชาเรขาคณิตเป็นวิชาที่ปลูกฝังพื้นฐานของความมีเหตุผล ในการพิสูจน์สูตรจะสามารถอ้างอิงได้จาก 3 หลักเท่านั้น ได้แก่ ทฤษฎีบท, สัจพจน์ และข้อตกลง วิชานี้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นม.ศ.1 (เทียบเท่าม.2 ในปัจจุบัน) จนถึงระดับชั้น ม.ศ.5 (เทียบเท่าม. 6 ในปัจจุบัน) เป็นการหล่อหลอมตัวตนให้เป็นผู้มีหลักเหตุและผลซึ่งเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่พึงมีในสังคมศิวิไลซ์ ในทัศนะของผมแล้วปัญหาการศึกษาระดับชาติแบ่งเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ซึ่งผมให้น้ำหนักของปัญหาแตกต่างกันดังนี้

1. ปัญหาหลักสูตร (60-70%)
2. ปัญหาบุคลกรทางการศึกษา (10-20%)
3. ปัญหาการประเมินวัดผล (10-20%)




ท่านสามารถดาวน์โหลดเพื่ออ่านฉบับเต็มได้


ไฟล์สำหรับดาวน์โหลด

Download
--