กลับไปหน้าหลัก
การเรียนรู้ได้ช้าเกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งการแพทย์ในปัจจุบันสามารถจำแนกได้ออกเป็นหลายโรค จุดประสงค์ของบทความนี้คือต้องการถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ให้แก่คุณครูและผู้ปกครองเพื่อที่จะสามารถหาแนวทางการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ต่อไป จะพบว่าเด็กหลายคนที่มีปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ดูภายนอกแล้วก็เหมือนเด็กปกติคือพูดคุยตอบโต้ได้และดูจะฉลาดในการจัดการ แต่กลับมีผลการเรียนที่ไม่ดี จึงถูกมองว่าเป็นเด็กขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบทำให้เด็กกลุ่มนี้มักจะถูกดุด่าว่ากล่าวตำหนิติเตียน ถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งส่งผลในทางลบกับจิตใจของเด็กกลุ่มนี้โดยหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมต่อไป แต่หากเราเข้าใจและรู้ว่าปัญหาการเรียนรู้ได้ช้าอาจจะเกิดได้จากความผิดปกติทางสมองแล้ว ก็เชื่อว่ามุมมองที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้ก็คงจะเปลี่ยนแปลงไป และที่น่าดีใจคือปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคต่างๆที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ สิ่งสำคัญคือการที่ผู้ปกครองหรือคุณครูประจำชั้นเปิดใจยอมรับ และเริ่มมองหาแนวทางความช่วยเหลือที่ถูกต้อง
โรคที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนที่พบได้บ่อย คือ โรคสมาธิสั้น (ADHD/Attention Deficit Hyperactive Disorder), โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD/Learning Disorders), โรคบกพร่องทางสติปัญญา (ID/Intellectual Disabilities), โรคออทิสติ (Autistic Disorders)
โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก คือราว 3-5% ของเด็กวัยเรียน ในแต่ละปีมีเด็กเกิด7-8 แสนคน ก็จะมีเด็กที่เป็นโรคนี้ถึง 3.5-4หมื่นคนต่อปี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเด็กจำนวน 1-2 คนในชั้นเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมเรื่องสมาธิจดจ่อ การยับยั้บชั่งใจและการเคลื่อนไหวของร่างกาย พบว่าสมองส่วนนี้ทำงานได้น้อยกว่าเด็กปกติ รวมถึงความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง จึงส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องของสมาธิและความสามารถในการควบคุมตัวเอง อาการที่พบทั่วไป คือ สมาธิสั้น, ซนวอกแวกไม่อยู่นิ่ง, หุนหันพลันแล่น
โรคบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติทางสมองซึ่งส่งผลให้ศักยภาพการเรียนต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้มีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ และพบว่าเด็กบางคนฉลาดกว่าเด็กปกติด้วย โรคการเรียนรู้บกพร่องแบ่งเป็น 3 ด้านได้แก่ ความบกพร่องด้านการอ่าน, ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ, ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ พบว่ากว่า 50% ของเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นจะมีปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้วย ในแต่ละปีหากอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 7-8 แสนคนจะมีโอกาสพบเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้ถึง 3.5-4หมื่นรายต่อปี
ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาเป็นภาวะที่มีพัฒนาการบกพร่องซึ่งทำให้มีข้อจำกัดทางสติปัญญา การเรียนรู้และการปรับตัว ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ความผิดปกตินี้เกิดได้จากปัจจัยต่างๆ ในด้านชีวภาพ สังคมและจิตวิทยา หรือหลายๆปัจจัยร่วมกัน เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม, การติดเชื้อระหว่างคลอด, การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์, การได้รับสารพิษระหว่างตั้งครรภ์ โดยทั่วไปพบบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาร้อยละ 1-3 ของประชากร และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 1.5: 1 ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาจะแบ่งได้ตามระดับความรุนแรง ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ เล็กน้อย (IQ 50-70), รุนแรง (IQ ต่ำกว่า 50)
โรคออทิสติกเป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำๆ มีความผิดปกติด้านภาษาและการสื่อสาร พบว่า 50% ของเด็กกลุ่มโรคออทิสติกมีความบกพร่องของระดับเชาวน์ปัญญา ส่วนสาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุความผิดปกติที่แน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากการทำงานของสมองผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น ด้านพันธุกรรม, ด้านเภสัชวิทยาระบบประสาท, คลื่นไฟฟ้าสมอง, โครงสร้างของสมองและระบบประสาท ในเด็ก 1,000 คนจะพบเด็กที่มีอาการทางออทิสติกเฉลี่ย 2-8 คน และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอยู่ที่ 3-6 คนต่อ 1 คน
จะเห็นได้ว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียนอาจจะเกิดจากสาเหตุเนื่องมาจากโรคใดโรคหนึ่งข้างต้น หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกแนวทางแล้วก็เชื่อว่าจะสามารถคืนชีวิตวัยเรียนที่มีความสุขให้กับเด็กๆเหล่านี้ได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดทำแบบประเมินเบื้องต้นซึ่งจะช่วยให้คุณครูสามารถทำการประเมินเด็กที่เข้าข่าย เพื่อจะได้มีข้อมูลนำไปพูดคุยกับผู้ปกครองและนำไปสู่การช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. "แบบคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา" โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. บทความ “โรคที่พบในเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้” แพทย์หญิงเลิศสิริ ราชเดิม จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล
3. บทความ “ออทิสติก” นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
4. บทความ “ออทิสติก: กลุ่มโรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder) แพทย์หญิง จอมสุรางค์ โพธิสัตว์ จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
5. บทความโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ จากเว็บไซต์http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1907
6. ขอบคุณภาพจากhttps://pixabay.com/en/kids-baby-the-son-dear-1508121/