วิทยาศาสตร์ระดับประถม สารบัญ


ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่่งแวดล้อม

ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource) คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท

  1. ใช้แล้วหมดไป (Exhaustible Natural Resource)
    • ใช้เวลานานในการสร้างขึ้นมาใหม่
    • ตัวอย่างเช่น แร่ธาตุ, น้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ
  2. ใช้แล้วไม่หมดไป (Non-Exhuasting Natural Resource)
    • เกิดการหมุนเวียนตลอด แต่คุณภาพอาจจะเสื่อมต้องดูแลรักษา
    • ตัวอย่างเช่น แสงแดด อากาศ, น้ำ
  3. ทดแทนได้ (Replaceable/ Renewable Natural Resource)
    • สามารถสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ได้
    • ตัวอย่างเช่น ป่า, สัตว์ป่า

ทรัพยากรป่าไม้

การจำแนกประเภทของป่าไม้

แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ป่าไม่ผลัดใบ
    • ป่าไม่ผลัดใบ คือ ใบจะเขียวชอุ่มตลอดปี
    • ตัวอย่างเช่น ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest), ป่าสนเขา (Pine Forest), ป่าชายเลน(Mangrove Forest), ป่าชายหาด (Beach Forest), ป่าพรุ (Swamp Forest)
  2. ป่าผลัดใบ
    • ป่าที่มีการผลัดใบในฤดูแล้ง
    • ตัวอย่างเช่น ป่าเบญพรรณ (Mixed Declduous Forest), ป่าเต็งรัง (Decleduous DipterocarpForest), ป่าหญ้า (Savannas Forest)

ความสำคัญและประโยชน์ของป่าไม้

  • เป็นส่วนสำคัญของวัฏจักร น้ำ ไนโตรเจน คาร์บอน ทำให้เกิดการหมุนเวียนสสาร
  • เป็นแหล่งปัจจัย 4 ได้แก่เป็นแหล่งอาหาร และยารักษาโรค มีวัตถุดิบมาทำที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม
  • เป็นแหล่งต้นน้ำ

    ป่าต้นน้ำคือป่าที่บริเวณต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปจะอยู่ที่พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป และเป็นพื้นที่ลาดเอียงมากกว่า 35 องศา ป่าไม้จะช่วยชะลอการไหล ทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ทัน ทำให้แม่น้ำมีน้ำตลอดปี การตัดไม้ทำลายป่าจะส่งผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำต่างๆ เพราะดินดูดซับน้ำได้น้อย

    แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ เกิดจากแม่น้ำหลายสายไหลรวมบรรจบ เช่น แม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะแม่น้ำน่านที่คิดเป็น 40% ของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง วังยม น่าน ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดจากป่าต้นน้ำ
    แม่น้ำปิง จุดกำเนิดอยู่ที่ เทือกเขาแดนลาว
    แม่น้ำวัง จุดกำเนิดอยู่ที่ ป่าดอยหลวง
    แม่น้ำยม จุดกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาดอยภูคา
    แม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของประเทศไทย เริ่มไหลจากเทือกเขาหลวงพระบาง

    ดังนั้นการตัดไม้ทำลายป่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำ จากข้อมูลของกรีนพีซประเทศไทย แม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรรวมประมาณ 117,500 ตารางกิโลเมตร (ข้อเท็จจริง 4 ข้อ ในหลายแง่มุม ของแม่น้ำเจ้าพระยา, 18 พ.ค. 2552) และแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญของการประปาทั้งในส่วนภูมิภาคและนครหลวง

    ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่จึงเป็นปัญหาที่ทุกคนในสังคมควรให้ความสำคัญ และเร่งแก้ไข ในอนาคตปัญหาการขาดแคลนน้ำจะทวีความรุนแรงขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าประชากรทั่วโลกกว่า 7,000 ล้านคนจะเผชิญภาวะการขาดแคลนน้ำในปีค.ศ. 2050

    ภาพจากเกร็ดความรู้ รู้รักษ์ป่า – แหล่งกำเนิดป่าต้นน้ำ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • ปรับสภาพอากาศให้มีความชุ่มชื้น และช่วยลดมลพิษทางอากาศ
  • เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ป่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ ป่าบางประเภทยังเป็นแหล่งเลี้ยงดูสัตว์ตอนเล็กๆ เช่น ป่าชายเลนที่จัดเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
  • เป็นแนวป้องกันลมพายุ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

รายงานสถานการณ์ป่าไม้ พ.ศ. 2560 -2561 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

จากรายงานที่ติดตามสถานการณ์ป่าไม้ จากปี 2504 ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ราว 53% และค่อยๆลดลงจนปัจจุบันอยู่ที่ 31% การอนุรักษ์ผืนป่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะป่ามีความสำคัญทั้งเป็นป่าต้นน้ำ รวมทั้งช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทุกคนและทุกภาคส่วนควรช่วยกันดูแลรักษาผืนป่ารวมถึงเร่งเพิ่มจำนวนป่า

ทรัพยากรสัตว์ป่า

แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. สัตว์ป่าสงวน ห้ามล่าโดยเด็ดขาดและห้ามมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้เพิ่มอีก 4 ชนิด รวมเป็น 19 ชนิด ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, แรด, กระซู่, กูปรีหรือโคไพร, ควายป่า,ละองหรือละมั่ง, สมัน, เลียงผา, กวางผาจีน,นกแต้วแร้วท้องดำ,นกกระเรียนไทย, แมวลายหินอ่อน, สมเสร็จ, เก้งหม้อ, พะยูน, วาฬบรูด้า, วาฬโอมูระ, เต่ามะเฟือง,ปลาฉลามวาฬ
  2. สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่กฎหมายกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อเป็นการป้องกันมิให้สัตว์ป่าบางชนิดต้องสูญพันธุ์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อคลาน 91 ชนิดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด ปลา 14 ชนิด แมลง 20 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันเหลัง 12 ชนิด

หน่วยงาน International Union for Convervation of Nature and Natural Resources (IUCN)เป็นหน่วยงานที่กำหนดว่าสัตว์ชนิดใดจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุมาจาก การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย และการถูกล่า

แนวททางอนุรักษ์สัตว์ป่า

  1. การกำหนดพื้นที่ป่าและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อให้สัตว์ป่าได้ดำรงชีวิตและขยายพันธุ์
  2. ไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่ครอบครองสัตว์ป่า
  3. ปฏิเสธผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ไม่มีผู้ซื้อ ก็ไม่มีผู้ขาย
  4. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
  5. การเพาะเพิ่มพันธุ์สัตว์ป่า
  6. การช่วยกันดูแลผืนป่า ป้องกันไฟป่า

ท่านทราบหรือไม่ว่า เสือโคร่ง 1 ตัว ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติจิตวัน (Chitwan) เมืองเนปาล จะครอบครองพื้นที่ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร สำหรับตัวเมีย และ 30-70 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวผู้ แต่ในเขตพื้นที่ความหนาแน่นของเหยื่อน้อยเช่น รัสเซีย เสือตัวเมียจะขยายอาณาเขต 200-400 ตารางกิโลเมตร และ 800-1,000 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้ (ข้อมูลจาก WWF-Thailand) เสือโคร่ง ดังนั้นการช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจึงเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่า

ทรัพยากรดิน

ดินที่มีความสมบูรณ์ จะมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช และดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะอยู่ที่ดินชั้นบนซึ่งง่ายต่อการถูกชะล้าง

แนวทางอนุรักษ์ดิน

  1. ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพราะป่าช่วยชะลอการไหลของน้ำ
  2. การปลูกหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
  3. ปลูกพืชคลุมดิน ป้องกันการกระทบของเม็ดฝนต่อผิวดิน
  4. ปลูกปุ๋ยพืชสด เช่น พืชตระกูลถั่วที่ช่วยตรีงแร่ธาตุไนโตรเจน และเมื่อไถกลบพืชตระกูลถั่วก็จะกลาย เป็นอินทรีย์วัตถุ
  5. การปลูกพืชหมุนเวียน ลดการใช้แร่ธาตุชนิดใดชนิดหนึ่งมากไปจากการปลูกชนิดเดียวกันซ้ำๆหลายครั้ง อีกทั้งยังช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคพืช
  6. การปลูกพืชแบบขั้นบันได การปลูกในที่ลาดเอียง น้ำจะไหลลงมาเร็วทำให้เกิดความเสียหายกับพืชผล การปลูกพืชแบบขั้นบันได เป็นการลดการพังทลายของดิน
  7. การเลือกใช้ดินให้เหมาะสม เช่น ดินบางแหล่งเหมาะกับการปลูกข้าว ควรจะใช้ปลูกข้าว ไม่ใช่ทำโรงงานหรือที่อยู่อาศัยเป็นต้น
  8. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่ไปกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวจะทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยนและดินเสื่อมคุณภาพ
  9. ดินเค็ม คือ ดินที่มีความเป็นด่าง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์, สารกำมะถัน
  10. ดินเปรี้ยว คือ ดินที่มีความเป็นกรด สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ปูนขาว

ทรัพยากรน้ำ

น้ำ จัดเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดการหมุนเวียนได้เรื่อยๆ เกิดเป็นวัฏจักรน้ำ โลกเราประกอบด้วยน้ำ 3 ใน 4 ส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มถึง 98% และเป็นน้ำจืดเพียง 2%

เมื่อพิจารณาน้ำจืดจะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปน้ำแข็ง

ดังนั้น น้ำจึงเป็นทรัพยากรที่ควรแก่การอนุรักษ์ น้ำสะอาดตามปกติจะมีปริมาณออกซิเจนละลายอยู่(DO หรือ Dissolved Oxygen) ปริมาณ 7-8 มิลลิกรัมต่อลิตร

การอนุรักษ์น้ำ

  1. ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ
  2. ตามบ้านและร้านอาหารควรใช้ถังดักไขมัน
  3. ใช้น้ำอย่างประหยัด

จากข้อมูล รอยย่ำน้ำ (Water Footprint) ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดการใช้น้ำของผู้บริโภคหรือผู้ผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมของสินค้าและบริการ โดยเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากหน่วยงานเช่น UNESCO IFC WWF และ WBCSD ซึ่งตะหนักถึงความสำคัญของวิกฤติน้ำ

จากภาพประเทศสหรัฐอเมริกาใช้น้ำต่อคนอยู่ที่ปีละ 2,483 ลูกบาศก์เมตร หรือ 2,483,000 ลิตร ในขณะที่ประเทศไทยต่อคนใช้น้ำอยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตร

สำหรับการผลิตอาหารในการได้มาซึ่ง 1 กิโลกรัมของชอคโกแลตต้องใช้น้ำ 24,000 ลิตร การได้มาซึ่งกาแฟ 1 ถ้วย ต้องใช้น้ำไป 140 ลิตร การได้มาซึ่งเนื้อวัว 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำไปถึง 15,500 ลิตร

คาดการณ์ว่าในปี 2025 คนกว่า 2,800 ล้านคนใน 48 ประเทศจะเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำ และจะเพิ่มขึ้นถึง 7,000 ล้านคนในปี 2050

ตารางปริมาณการใช้น้ำบาดาล (ข้อมูล ณ เมษายน 2560)

ทรัพยากรอากาศ

โลกเรามีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่โดยรอบหนาประมาณ 15 กิโลเมตร ประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจน 78%แก๊สออกซิเจน 20% แก๊สอื่นๆประมาณ 1%

มลพิษทางอากาศ

แบ่งได้เป็น 3 ประเภท

  1. เกิดตามธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า การระเบิดของภูเขาไฟ พายุฝุ่น
  2. เกิดจากมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า

ประเภทของมลพิษทางอากาศ

ชนิด สาเหตุ ผลกระทบ
แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่เป็นสารประกอบคาร์บอน ถ้าร่างกายได้รับปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ แก๊สนี้จะจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200 เท่า ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอโดยเฉพาะอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนสูง เช่น สมอง
แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เกิดจากแก๊สไนตริกออกไซด์ (NO)ทำปฏิกิริยากับโอโซนในชั้นบรรยากาศ แก๊ส NO สามารถเกิดได้เองตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ภูเขาไฟระเบิด หรือจากอุตสาหกรรมการผลิตกรดกำมะถัน การผลิตกรดไนตริก มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และมีผลต่อภาวะภูมิคุ้มกัน และเมื่อ NO2 รวมตัวกับน้ำจะได้เป็น กรดไนตริก (HNO3)ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน
แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้โดยใช้เชื้อเพิลงที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเมื่อรวมตัวกับน้ำจะได้เป็นกรดซัลฟูริก (H2SO4) ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน
แก๊สโอโซน จำแนกได้เป็น
  • โอโซนตามธรรมชาติ –ระดับสูง อยู่สูงกว่าพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตร
    ช่วยป้องกันรังสี UVB ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
    สารที่ทำลายโอโซนได้แก่ สารประกอบคลอรีนออกไซด์, ไนตริกออกไซด์, โบรมีน, ไฮโดรเจนออกไซด์, สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งใช้ในสารทำความเย็น สารขับดันในกระป๋องสเปรย์ ใช้เป็นตัวทำละลาย
  • โอโซนระดับล่าง-เป็นอันตรายต่อมนุษย์
โอโซนระดับล่างสามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากควันของรถยนต์ โอโซนในระดับความเข้มข้น 0.25 ppm ขึ้นไปมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูล และทำลายเนื้อเยื่อปอด
ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เกิดตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การก่อสร้าง ฝุ่นควันขนาดเล็กจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในปี 2556 องค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่นควันขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเขียนเป็น PM 2.5 เป็น “สารก่อมะเร็ง”
ตะกั่ว จัดเป็นโลหะหนักสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการหายใจ, ทางผิวหนังและการกิน พบในน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินที่เพิ่มค่าออกเทน ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้างฮีมในเม็ดเลือดแดง

แหล่งที่มาของความรู้
แหล่งของมลพิษทางอากาศ มหาวิทยาลัยมหิดล
มลพิษทางอากาศ สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย

แหล่งก่อมลพิษ

  • การปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากรถยนต์
  • การจัดการขยะ เช่น การเผาขยะ
  • ฝุ่น
  • การเกษตร
  • การใช้พลังงานภายในครัวเรือน

การอนุรักษ์อากาศ

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจาก CFCs
  • ลดการใช้รถ หรือเลือกใช้รถที่มีระบบการเผาไหม้ที่สมบูรณ์
  • ลงทุนในระบบขนส่งมวลชน และลงทุนในการผลิตพลังงานสะอาด
  • ปรับปรุงการจัดการขยะ
  • ลดการเผา ป้องกันไฟป่า และลดการตัดไม้ทำลายป่า
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานภายในครัวเรือน

ขยะ

ขยะ คือ ของเหลือทิ้งจากการใช้สอยในกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เป็นของกินและของใช้

ข้อมูลเกี่ยวกับขยะ<

ปี 2559 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย จำนวน 27.04 ล้านตันต่อปี
นำไปกำจัดถูกต้องจำนวน 9.59 ล้านตันต่อปี
นำไปกำจัดไม่ถูกต้องจำนวน 11.69 ล้านตันต่อปี
ตกค้างในพื้นที่จำนวน 10.13 ล้านตันต่อปี
นำมาใช้ประโยชน์ใหม่จำนวน 5.76 ล้านตันต่อปี
คนไทยผลิตขยะตกวันละ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

ปัญหาจากขยะก่อให้เกิดมลพิษแก่ทรัพยากร เช่น
มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาขยะ
มลพิษทางน้ำที่เกิดจากการเน่าเสียจากการทิ้งสิ่งปฏิกูลขยะลงในน้ำ
มลพิษในดิน การทิ้งขยะอันตรายทำให้เกิดการปนเปื้อน
การลดขยะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากร ไม่กินทิ้งกินขว้าง ซ่อมแซมดัดแปลงเพื่อใช้ของเก่า

ระยะเวลาในการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท

แหล่งข้อมูล: คู่มือธนาคารขยะ

ขยะสีไหน ทิ้งให้ถูก

แหล่งข้อมูล: คู่มือธนาคารขยะ

  • ถังขยะสีเขียว ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษผักผลไม้ เศษใบไม้
  • ถังขยะสีเหลือง ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก กระป๋อง
  • ถังขยะสีน้ำเงิน ขยะทั่วไป เช่น โฟม พลาสติกเปื้อนอาหาร
  • ถังขยะสีแดง ขยะอันตราย เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย

มาลดขยะด้วย 3R

  • Reduce (ลดการใช้) เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติกหันมาใช้ถุงผ้า ลดการใช้กล่องโฟมใส่อาหารหันมาใช้ปิ่นโต
  • Reuse(ใช้ซ้ำ) เช่น ใช้กระดาษทั้ง 2 ด้าน นำเสื้อผ้าเก่ามาทำผ้าขี้ริ้ว
  • Recycle (นำกลับมาผ่านกระบวนการและใช้ใหม่) ขวดแก้ว เศษแก้วนำมาหลอมเป็นแก้วใหม่
สัญลักษณ์ Mobius Loop เป็นการระบุว่าสิ่งของดังกล่าวสามารถนำไปรีไซเคิลได้

แหล่งข้อมูล: คู่มือธนาคารขยะ



















--